ชาย เมืองสิงห์ (แมน ซิตี้ไลอ้อน)

ชาย เมืองสิงห์ มีชื่อจริงว่า นายสมเศียร พานทอง เกิดวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2482ที่อำเภอเมือง   จังหวัดสิงห์บุรี  จบชั้นมัธยมปลายจากจากโรงเรียนสิงหะวัฒนพาหะ (โรงเรียนสิงห์บุรี) ในจังหวัดบ้านเกิดในปี 2499 ก่อนจะเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างที่กรุงเทพฯ ในระหว่างนั้น เนื่องจากเป็นคนที่ชอบการร้องเพลง เมื่อเงินไม่พอใช้ก็จะอาศัยไปร้องเพลงเชียร์รำวง แต่เมื่อเรียนได้ถึงชั้นปีที่ 4 เขาก็ต้องเลิกเรียน เพราะทางบ้านประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก ชาย เมืองสิงห์ ที่ตัดสินใจสู้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุง จึงต้องออกหางานทำ รับจ้างตากผัก เพื่อนำมาทำเป็นผักกาดกระป๋อง , กรรมกรตอกเสาเข็ม , รับจ้างเขียนป้าย และวาดรูป 

ชาย เมืองสิงห์ ต่อมาได้รับการอุปถัมภ์จาก นายอารมณ์ คงกะพัน ผู้กว้างขวางที่ขายของอยู่แถวตลาดพลู ที่คอยช่วยเหลือและผลักดันให้ ชาย เมืองสิงห์ เข้าประกวดร้องเพลงตามที่ต่างๆ เช่น ผับ สถานบันเทิง ต่างๆ ในปี 2504 ชาย เมืองสิงห์ มีโอกาสพบกับครูมงคล อมาตยกุล หัวหน้าวงจุฬารัตน์ จึงได้ขอสมัครเป็นนักร้องในวง แต่ครูมงคลยื่นเงื่อนไขว่าจะรับเขามาร่วมวง ก็ให้ไปแหล่สดๆ แข่งกับพร ภิรมย์ นักร้องดังในวงจุฬารัตน์ และนักร้องลูกทุ่งชั้นแนวหน้าของประเทศในยุคนั้น ซึ่งชาย เมืองสิงห์ ก็ฝ่าด่านหินนั้นมาได้ จนครูมงคล ต้องยอมรับเขาเข้าร่วมวงตามที่ประกาศเอาไว้ รวมทั้งตั้งชื่อให้เขาว่า  ชาย เมืองสิงห์ 

ก่อนจะผลักดันให้มีโอกาสบันทึกเสียงผลงานเพลงของตัวเอง เมื่อเขามีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เขาได้รับฉายาว่า อเลน เดอลอง เมืองไทย” ต่อมา คณะตลกเมืองไทยก็ตั้งฉายาให้เขาว่า “ แมน ซิตี้ไลอ้อน “

ชาย เมืองสิงห์  เล่าว่า เมื่อก่อนนี้สมัยเข้าวงการแรกๆ ค่าตัวจะไม่เกิน 30 บาทต่องานนะ แล้วก็ผ่านมา มีเพลงดังช่วงปี 2505-2511 ค่าตัวจะขึ้นมาอยู่ที่ 80 บาท แต่ก็มีค่าตัว 300 บาท อันนี้งานอยู่เชียงใหม่นะ ไกลเหลือเกิน เรียกว่าค่าตัวน้อยมาก แล้วก็ค่อยไต่ระดับไปเรื่อยๆ

นักร้องดังสมัยก่อนห้ามมีแฟน แม้กระทั่งใครที่เป็นผัวเมียกันแล้ว เวลาไปเดินสายเนี่ย ยังต้องแยกห้องนอนกันเลย แล้วก็จะนั่งรวมกันไม่ได้ ถ้าเกิดว่ามีคนรู้คะแนนมันก็จะตก ต้องรองานเลิกแล้วค่อยไปแอบกันทีหลัง มันจะไม่เหมือนกับสมัยนี้ สมัยก่อนมันจะมีรถบัสคนละคัน แล้วก็จะมีชื่อติด คนก็จะตามไปดู จะไม่มีแบบที่กรี๊ดแบบสมัยนี้นะ จะมีมานั่งดู แล้วก็เอามาลัยมามอบแค่นั้นเอง คนดูเขาก็จะมากับพ่อกับแม่บ้างอะไรแบบนี้ ถ้าเกิดว่านักร้องจะไปทำเจ้าชู้หรือไอ้นู่นไอ้นี่ ไม่ได้เลยนะ ถ้าเกิดว่าเขาชอบเราเขาก็จะมีจดหมายมา แล้วนักร้องก็เขียนตอบไป

เพลง"มาลัยดอกรัก" เป็นเพลงที่สร้างชื่อให้ ชาย เมืองสิงห์ ในยุคแรกๆ ที่เป็นนักร้องเล่ากันว่า ชายเมืองสิงห์ แต่งเพลงนี้ให้กับ"ติ๋ม" สาวรำวงในคณะที่ ชาย เมืองสิงห์เคยเป็นคนร้องเชียร์รำวง ก่อนเป็นนักร้องจุฬารัตน์ ที่สำคัญสาวติ๋มยังเป็นแม่ค้าขายพวงมาลัยด้วย เป็นที่มาของเพลง"มาลัยดอกรัก" ที่เริ่มต้นอย่างหอมหวานว่า

" หอมมาลัย ที่ชายรับมาจากเจ้า รับมาจากสาว เล่นเอาหัวใจชายสั่น พวงมาลัยคล้องดวงใจผูกพัน ต่างพยานรักกัน ไม่ว่าคืนหรือวัน จิตรำพันถึงเธอ....... "

ชาย เมืองสิงห์แต่งงานกับ ติ๋ม อย่างเงียบ ๆ หลังแต่งงานติ๋มวางมือจากการเป็นสาวรำวงและแม่ค้าพวงมาลัย ติดตามชาย เมืองสิงห์มาอยู่วงจุฬารัตน์ด้วยกัน ได้รับการตั้งชื่อนักร้องว่า ดวงใจ เมืองสิงห์

ชาย เมืองสิงห์ อยู่กับวงจุฬารัตน์ 5 ปี พอถึงปี 2510 ก็ออกมารับงานร้องเพลงทั่วไปเอง ในปีต่อมาก็ตั้งวงดนตรีเล็กๆ ชื่อ “วงหลังเขาประยุกต์ “ ต่อมาขยายวงและเปลี่ยนชื่อเป็น “ จุฬาทิพย์ “ เพื่อรำลึกถึงวงที่ทำให้เขาโด่งดัง ซึ่งเมืองสิงห์ เป็นนักร้องที่มีลีลาการร้องเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง นอกจากนั้นเขาก็ยังได้ประพันธ์เพลงลูกทุ่งเอาไว้ประมาณ 1,000 เพลง ซึ่งก็มีทั้งที่เอาไว้สำหรับขับร้องเอง และให้ผู้อื่นร้อง ในช่วงที่ทำวงนี้ ชาย เมืองสิงห์ ได้ปลุกปั้นให้ลูกวงของเขาโด่งดังขึ้นมาในระดับแนวหน้าในภายหลังหลายคน เช่น โชคดี พักภู่ เพชร โพธิ์ทอง , ระพิน ภูไท , ดี๋ ดอกมะดัน , ดู๋ ดอกกระโดน , สีหนุ่ม เชิญยิ้ม , หนุ่ม เมืองไพร , ดาวไทย ยืนยง , ถนอม จันทรเกตุ 

ชาย เมืองสิงห์ ทำวงอยู่ 10 ปี ก็ยุบวงไป เพราะมรสุมชีวิต ทั้งปัญหาครอบครัว และพ่อแม่เสียชีวิต เขาจึงห่างหายจากวงการเพลงไปนาน เมื่อผันตัวไปเป็นเกษตรกรทำไร่นาสวนผสมที่บ้านเกิดนานถึง 10 ปี จนได้รางวัลเกษตรกรดีเด่นของจังหวัด

ในปี 2552 ชาย เมืองสิงห์ ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ถึงแม้จะถูกโรคภัยคุกคามจนไม่สามารถลุกเดินได้ตามต้องการอีกต่อไป แต่ด้วยพลังใจที่มีก็ยังตระเวนรับงานร้องเพลงบนรถเข็นเก่าๆ คันหนึ่งเพื่อให้แฟนๆ ได้หายคิดถึงกัน...