สมัย อ่อนวงศ์  นักร้อง นักดนตรี ผู้บุกเบิกการนำแคน มาใช้เป็นเครื่องดนตรีเพลงลูกทุ่ง จนได้รับฉายา ขุนพลแคนแดนสยาม

สมัย อ่อนวงศ์ เกิดในครอบครัวชาวไทยทรงดำ ที่บรรพบุรุษถูกกวาดต้อนมาจากเมืองแถน แคว้นสิบสองไท ประเทศลาว ที่ติดพรมแดนเวียดนามตอนเหนือใกล้กับพรมแดนจีน ในช่วงสงครามตั้งแต่ปี 2321 จากการที่พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก ตายายเป็นผู้เลี้ยงดู หลังบวชเรียนจบ และลาสิกขาช่วยทางบ้านทำมาหากิน ประกอบด้วยนิสัยส่วนตัวชอบดนตรีไทย และเพลงพื้นบ้านประเภทหมอลำ และพอฝึกฝนร้อง เล่นได้ ระยะแรกจึงรับหน้าที่เป่าแคนให้วงหมอลำ แต่การเป็นหมอแคนของสมัยนั้น รายได้น้อยสู้เป็นหมอลำไม่ได้ จึงไปหัดเล่นหมอลำ จนกระทั่งสมัครเป็นลูกศิษย์หัดร้องกลอนลำจากอาจารย์เสี้ยว เสือแป้น หมอลำชื่อดังของเมืองไทยในยุคนั้น


ในปี 2500 สมัย อ่อนวงศ์ เข้าร่วมประกวดดนตรีกับสถาบันดนตรีแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท "แคน" นั่นเป็นจุดเริ่มต้นนำมาสู่การตั้ง วงดนตรีแคนประยุกต์แบบมาตรฐานขึ้นมา ชื่อวงดนตรี “สมัยศิลปิน” เพื่อออกตระเวนแสดงตามที่ต่าง ๆ ซึ่งเปิดทำการแสดงครั้งแรก ที่วงเวียนใหญ่ ท่ามกลางผู้ชมอย่างล้นหลาม ว่ากันว่าวงการลูกทุ่งไทย เข็มไมล์จะเริ่มหมุนในปี 2507 แต่ปีถัดมาของสมัย อ่อนวงศ์ นั้น เขาพยายามคิดค้นวิธีประยุกต์แคนไทยให้เป็นแคนไฟฟ้า จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ และสามารถรวบรวมตั้งเป็นวงดนตรีแคนประยุกต์ไฟฟ้าได้


วนดนตรี สมัย อ่อนวงศ์  เปิดทำการแสดงที่สถานีวิทยุประชาสัมพันธ์ 7 ใต้สะพานพุทธยอดฟ้า และได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ สมัย อ่อนวงศ์ จะบันทึกเสียงครั้งแรกกับเพลง "แคนสวาท" ที่แต่งจากปลายปากกาของครูไพบูลย์ บุตรขัน และร่วมก่อตั้งวงดนตรี " สมัย อ่อนวงศ์ " ร่วมกับครูกานท์ การุณวงศ์ เพื่อนสนิท จนชีวิตนักดนตรีของเขาจะก้าวสู่ช่วงรุ่งโรจน์ในระหว่างปี 2513-2527 เมื่อมีโอกาสไปแสดงดนตรีตามที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั่วโลก

ยุคสมัยนั้น สมัย อ่อนวงศ์ เปรียบดั่งทูตทางวัฒนธรรมที่ใช้ "แคน" ไปสื่อให้คนหลาย ๆ ประเทศเห็นความรุ่มรวยของเสียงพิณ เสียงแคน และท่วงทำนองอีสาน อีกทั้งความสนุกสนานในแบบไทยๆ เขาเคยเดินทางไปเล่นดนตรี กล่อมขวัญทหารไทย ในเวียดนาม และประเทศลาว ได้รับเหรียญเสรีชน จากรัฐบาลยุคนั้นหลายครั้ง กระทั่งก้าวเข้าสู่เกียรติยศ ได้รับรางวัลเป็นหมวก “ ยอดขุนพล” ซึ่งมอบให้แก่บุคคลผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย จึงได้รับสมญานามว่า “ ยอดขุนพลแคนแดนสยาม”


ตลอดชีวิต สมัย อ่อนวงศ์ ได้มีบันทึกแผ่นเสียงเพลงของครูเพลงชื่อดังมากกว่า 100 เพลง เช่นเพลงของไพบูลย์ บุตรขัน, กานท์ การุณวงศ์, ประเทือง บุญญประพันธ์, ณรงค์ โกษาผล , , มงคล อมาตยกุล ผลงานเพลงที่มีชื่อเสียง เช่น "บ่เป็นหยังดอก" "คนหูหนวก" และ "ปืนบ่มีลูก"

ด้านชีวิตส่วนตัวสมัย อ่อนวงศ์ สมรสกับคุณรวม อ่อนวงศ์ มีทายาทรวม 5 คน สมัย อ่อนวงศ์ เสียชีวิตเมื่อปี 2539 ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี ขณะอายุ 65 ปี รางวัลแผ่นเสียงทองคำ ได้รับการยกย่องจากสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ให้เป็น “ศิลปินเมืองเพชร” สาขาดนตรีและการแสดง ชาวอำเภอเขาย้อยจัดสร้าง “อนุสาวรีย์ สมัย อ่อนวงศ์” ขึ้นที่บริเวณด้านหน้าศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย อันเป็นการรำลึกถึง ขุนพลแคนแดนสยาม ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีเพลงแคนพื้นบ้าน จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เป็นต้นแบบของนักเพลงรุ่นหลัง