สาริกา กิ่งทอง

    เมื่อกว่า30 ปีก่อนเราฟังเพลงจากวิทยุทรานซิสเตอร์  และจากการแสดงของวงดนตรีลูกทุ่ง ที่มาเดินสายเปิดการแสดงตามงานต่างๆ ในยุคนั้นนักร้องที่ดังได้เพราะ ร้องดี เสียงดี สวยไม่สวย หล่อไม่หล่อ ไม่รู้เพราะไม่ค่อยได้เห็นหน้า ฟังแต่เสียงเอา ไม่เหมือนยุคนี้ที่นักร้องต้องหล่อ ต้องสวย ร้องเพลงฟังไม่รู้เรื่องก็ดังได้เหมือนกัน

(ด้านซ้าย น้าพล หรือ ฉัตรทอง มงคลทอง  ด้านขวา สงคราม กิ่งทอง) 

    นักจัดรายการสมัยนั้นต่างก็หาเพลงเพราะๆ มาเปิดเอาใจแฟนเพลง รายการไหนเปิดเพลงถูกใจก็จะมีคนจดหมายมาขอเพลงมาก เป็นหลักฐานให้สปอนเซอร์ดูเพื่อสนับสนุนรายการ เพลงดังในเวลานั้นก็มี เพลงน้ำท่วม ของศรคีรี ศรีประจวบ เพลงคุณนายโรงแรม คนสวยใจดำ ของระพิน ภูไท เพลงทหารอากาศขาดรัก โดยเสกศักดิ์ พู่กันทอง เพลงลารักจากสวนแตง ลานเทสะเทือน ของสายัณห์ สัญญา จดหมายจากแนวหน้า ของยอดรักสลักใจ และมีนักร้องบ้านเราที่เบียดนักร้องดังจากส่วนกลาง ขึ้นมายืนในระนาบเดียวกันด้วยเพลงดังหลายเพลงเช่นเพลง แต๋วจ๋า เพลงแสนหวังเหวิด นิราศรักพุมเรียงจากเสียงร้องของสาริกา กิ่งทอง นักร้องจากถิ่นใต้ ทายาทศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ จูเลี่ยม กิ่งทอง ศิลปินแห่งชาติประจำปีพ.ศ. 2535 สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ในการแสดงของหนังจูเลี่ยม มักจะมีการร้องเพลงลูกทุ่งประกอบในเรื่องด้วย เพลงที่ร้องจะเป็นเพลงที่จูเลี่ยมแต่งขึ้นเอง ทั้งสิ้น  
 
     สาริกา กิ่งทอง นักร้องเสียงใส ร้องเพลงทำนองหวาน เนื้อเพลงส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาของผู้ชาย แต่โทนเสียงคล้ายผู้หญิง จนเกิดคำถามมาโดยตลอดว่า นักร้องคนนี้ หญิงหรือชาย สาริกาเป็นนักร้องลูกทุ่งหญิง ชื่อดังคนหนึ่งของประเทศไทย และถือกันว่าเป็นขุนพลเพลงลูกทุ่งหญิงจากแดนใต้คนแรกๆ มีผลงานเพลงดังติดหูคนไทยมากมายหลายเพลง ด้วยน้ำเสียงแจ่มใส มีพลังประกอบกับเนื้อเพลงผลงานแต่งของครูจูเลี่ยม ที่มักจะมีข้อคิดตามคติของชาวใต้แฝงอยู่ทำให้เพลงของเธอสร้างความตื่นตัวให้กับวงการเพลงลูกทุ่งเมืองไทยในอดีต วงดนตรีลูกทุ่งชื่อคณะสาริกา กิ่งทองเดินสายเปิดแสดงไปทั่ว โดยเฉพาะภาคใต้

      าริกา กิ่งทอง ชื่อจริงว่า สาริกา ล้ำเลิศสกุล ชื่อเล่น ติ๋ว เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือนเมษายน พ.ศ.2492 ที่ตำบลบ้านควน อำเภอหลังสวนจังหวัดชุมพร เป็นลูกสาวครูจูเลี่ยม กิ่งทอง มีพี่น้อง 10 คน จากภรรยา 5 คนของบิดาเพลงที่สาริกาขับร้อง ส่วนใหญ่แต่งโดยหนังจูเลี่ยม บางเพลงก็ใช้ในการแสดงหนังตะลุงมาก่อน ว่ากันว่าหลายบทเพลงได้ประพันธ์บนโรงหนังตะลุงนั่นเองเพลงที่สาลิกาขับร้องเป็นเพลงลูกทุ่งแท้ มีสัมผัส ใช้สำนวนภาษาท้องถิ่นภาคใต้และสะท้อนความเป็นอยู่ของชาวภาคใต้ ด้วยสำเนียงภาคกลาง เพลงของสาริกา จึงฟังได้ทั้งประเทศ


 
        ครูจูเลี่ยม แต่งเพลงสำหรับผู้ชายให้ลูกสาวในมาดนักร้องชายร้องอัดแผ่นเสียงจำหน่ายได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมการร้องของลูกสาวเองด้วย เพลงที่โด่งดังอย่างยิ่งของสาริกามีมากมาย เช่น แสนหวังเหวิด (ได้รับยกย่องเป็นเพลงลูกทุ่งดีเด่นในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย)ทำพรือมันเล่า แต๋วจ๋า หมอนข้างต่างทรวง นิราศรักพุมเรียง กลับเถิดน้องแต๋ว เรือด่วนโดยสาร สะละเหม้า เมียข้าแฟนเขา แม่มะขามลนไฟ กลัวผู้หญิงชีวิตสาริกา เป็นต้น เนื้อหาของบทเพลงส่วนใหญ่


     โดยเฉพาะเพลง "แต๋วจ๋า" ที่นอกจากน้ำเสียงของนักร้องจะติดอกติดใจแฟนเพลงไม่น้อยแล้วยังสร้างความสงสัยให้แฟนเพลงทั่วประเทศว่าสาริกาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่ เพราะแม้เนื้อหาเพลง "แต๋วจ๋า"และเพลงอื่นๆ ของสาริกาจะเป็นบทเพลงสำหรับนักร้องชายและหลายเพลงร้องในทำนองเกี้ยวพาราสีผู้หญิงตัวสาริกาเองก็อยู่ในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบนักร้องชายขณะที่น้ำเสียงและหน้าตาออกไปทางผู้หญิง และที่สุดหลังจากสงสัยกันมานานก็เป็นที่เปิดเผยว่า สาริกา กิ่งทอง เป็นผู้หญิง


      สาลิกา กิ่งทอง เสียชีวิตเมื่อปี 2540 ด้วยโรคมะเร็งเต้านมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โลกได้สูญเสียนักร้องที่มีคุณภาพ ไร้ประวัติด่างพร้อยไปคนหนึ่ง

       บทเพลงที่สาริกา กิ่งทอง ขับร้อง เป็นบทประพันธ์ที่ส่งเสริมภาษาถิ่นปักษ์ใต้ ใช้ภาษาไทยที่เข้าใจโดยง่าย แต่ไพเราะด้วยสัมผัสคล้องจองตามแบบฉบับลูกทุ่งที่สำคัญเป็นบทเพลงที่ได้บันทึกสถานที่ แฟชั่น ความนิยมของคน เหตุการณ์ และความแตกต่างระหว่างสังคมเมืองหลวง และสังคมชนบท ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น สะท้อน...สอนใจคนฟัง ผ่านบทเพลงลูกทุ่งไทย 

      อ.เจนภพ จบกระบวนวรรณ เขียนคำนิยมเพลง แสนหวังเหวิด ไว "เป็นบทประพันธ์ที่ส่งเสริมภาษาถิ่นปักษ์ใต้ ใช้ภาษาไทยที่เข้าใจโดยง่าย แต่ไพเราะด้วยสัมผัสคล้องจองตามแบบฉบับลูกทุ่งที่สำคัญเป็นบทเพลงที่ได้บันทึกสถานที่ แฟชั่น ความนิยมของคน เหตุการณ์ และความแตกต่างระหว่างสังคมเมืองหลวง และสังคมชนบท ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น สะท้อน...สอนใจคนฟัง ผ่านบทเพลงลูกทุ่งไทย เป็นบทเพลงที่เล่นคำ สัมผัส ด้วย “สะระ เอิด” ซึ่งไม่มีในหลักภาษาไทย และหาไม่เจอในบทเพลงอื่นๆ นับว่าเยี่ยมยอด และยากมาก ที่ผู้แต่งจะสรรหาคำมาใส่ไว้ให้ลงตัว"

 

ขอบคุณ/อ้างอิง : คลิปเพลง ภาพประกอบเรื่อง และเนื้อหาบางส่วนจากคลังความรู้อินเตอร์เน็ท / วิกิพีเดีย / พิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่งไทย